Sunday, May 26, 2013

8 วิธีแก้เมารถ ง่ายๆ

สำหรับบางคน ไปเที่ยวแล้วเมาเหล้า ไม่เศร้าเท่าเมารถ! อาการเมารถ หรือ เมาเรือ เกิดจากประสาทการทรงตัวไม่สมดุล เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป เช่น นั่งรถที่สะเทือนนานเกินไป หรือเรือที่โยนไปมาตามลูกคลื่น จนไปกระตุ้นประสาทการทรงตัวของเรา คนที่มีประสาทการทรงตัวปกติจะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับบางคน ประสาทการทรงตัวอาจไวเป็นพิเศษ จึงเวียนศีรษะง่าย และมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตามมา ไม่อยากโดนบ่อนทำลายความสนุกด้วยอาการวิงเวียน รู้ไว้ 8 วิธีแก้เมารถ !!

วิธีแก้เมารถ 1 : อย่าก้มหน้า อาเจียนจะถามถึง
หากต้องนั่งรถทางไกล เงยหน้าเท่านั้น มองระยะไกลเข้าไว้ อย่าก้มหน้าอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมส์เด็ดขาด เพราะการก้มหน้าจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อย เป็นที่มาของอาการคลื่นไส้ วิงเวียน และอาเจียนจะตามมาในที่สุด

วิธีแก้เมารถ 2 : ยืดเส้นยืดสาย สลายอาการวิงเวียน
ถ้าเป็นไปได้ ลงจากรถเพื่อยืดเส้นยืดสายซะบ้าง ไม่ควรนั่งรถนานถึงสิบชั่วโมงรวด ถ้ารถแวะจอดที่ปั๊ม ให้ใช้โอกาสนี้ออกกำลังแขนขา เปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อช่วยให้เลือดลมไหลเวียนสะดวกขึ้น
วิธีแก้เมารถ 3 : พริ้วไหวไปนั่งหน้า
ไม่เซียนจริง อย่านั่งท้าย เพราะเวลารถเหวี่ยง กระเด้งกระดอน จะโค้งหักแขน หักศอก ส่วนท้ายจะได้รับผลกระทบมากกว่าส่วนไหนๆ ขืนฝืนนั่งไป อาหารที่ทานไว้จะขึ้นมาจ่อคอหอย เพราะฉะนั้นขึ้นรถอย่ารอช้า กระโดดช่วงชิงเบาะหน้า ไม่วิงเวียน ไม่อาเจียน สบายละ!

วิธีแก้เมารถ 4 : จะเดินทาง อย่าตะกละ
หากรู้ว่าต้องเดินทางไกล กินพอให้อยู่ได้ไม่หิว ถ้ามัวห่วงว่าจะหิวโฮก รับรองได้โอ้กกันเต็มคันรถ เพราะการทานอิ่มเกินไป โดยเฉพาะอาหารรสจัด อาหารมันๆ จะทำให้ยิ่งรู้สึกคลื่นไส้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ทานเลยนะ เพราะที่จริงแล้ว ยิ่งท้องว่าง ก็จะทำให้เมารถเร็วยิ่งขึ้น
วิธีแก้เมารถ 5 : ระบายอากาศเป็นครั้งคราว
ถ้าภายในรถ ที่นั่งค่อนข้างแออัด ควรเปิดหน้าต่างบ้าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พัดเอาลมข้างนอกเข้ามาในตัวรถ เพราะออกซิเจนจะช่วยให้สมองปลอดโปร่ง ลดอาการวิงเวียนได้เป็นอย่างดี
วิธีแก้เมารถ 6 : ลองใช้วิทยายุทธ กดจุดที่ข้อมือ
การกดจุด โดยใช้นิ้วมือนวดวนๆ ที่ข้อมือด้านใน บริเวณใกล้กับที่จับชีพจร วิธีนี้ยังไม่มีผลพิสูจน์ทางการแพทย์ แต่ว่ากันว่าหลายคนใช้แล้วได้ผล
วิธีแก้เมารถ 7 : ทานยาก่อนขึ้นรถ
กันไว้ดีกว่าพลาด รับประทานยาแก้เมารถ ก่อนออกเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมง จะช่วยได้มาก แต่ยาจะมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน ก็คิดซะว่าหลับสักตื่น ฟื้นมาก็ถึงพอดี
วิธีแก้เมารถ 8 : ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท
อย่าเครียด คือ วิธีที่ดีที่สุดหากทำได้ ทำตัวตามสบาย ยิ่งวิตกกังวล ยิ่งเมารถง่ายขึ้น ที่สำคัญหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง เท่านี้ก็เดินทางสะดวก ปลอดภัย

…………………………………………………..
 8 วิธีแก้เมารถ ง่ายๆ
ที่มา : www.ocpb.go.th

Posted on 10:39 PM by Unknown

No comments

Saturday, May 25, 2013

หูกับการได้ยิน

หูของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งรวมถึงมนุษย์เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ 2 ประการ ซึ่งก็คือ
1. การได้ยินหรือการรับฟังเสียง (Phonoreceptor) โดยสามารถแยกความแตกต่างของคลื่นเสียงได้
2. การทำหน้าที่ทรงตัว รักษาสมดุลของร่างกาย (Statoreceptor)


ส่วนประกอบของหู

http://www.sopon.ac.th/sopon/sema_web/secondary5/health_educ/anatony/ear_files/c22.jpg

หูส่วนนอก

หูส่วนนอก (External ear) ซึ่งประกอบด้วย
1. ใบหู (Pinna) มีหน้าที่ในการรวบรวมคลื่นเสียงที่มาจากที่ต่างๆ ส่งเข้าสู่รูหู ใบหู มีกระดูกอ่อนอีลาสติก เป็นแกนอยู่ภายใน ทำให้โค้งพับงอได้
2. ช่องหู หรือ รูหู (Auditory canal) เป็นส่วนที่อยู่ถัดใบหูเข้ามาจนถึงเยื่อแก้วหู ทำหน้าที่เป็นทางเดินของคลื่นเสียงเข้าสู่หูส่วนกลาง รูหูมีขนและต่อมสร้างขี้หู (Cerumious gland) ทำหน้าที่สร้างขี้หูไว้ดักฝุ่นละออง หรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในรูหู
3. แก้วหู หรือ เยื่อแก้วหู (Tympanic membrane หรือ Ear drum) มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ และเป็นเส้นใยที่มีความยาวเท่าๆกันจึงสั่นสะเทือน เมื่อมีเสียงมากระทบและแยกคลื่นเสียงที่แตกต่างกันได้โดยมีความว่องไวต่อการเปลี่ยนแปลงความดัน แต่จะไม่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงความเร็ว (คลื่นเสียงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลแรงดันในช่องหู)


หูส่วนกลาง

หูส่วนกลาง (Middle ear) เป็นส่วนที่ถัดจากแก้วหูเข้ามา ภายในหูตอนกลางจะมีท่อยูสเทเชียน (Eustachian tube) มีลักษณะเป็นท่อกลวงขนาดเล็ก เชื่อมติดระหว่างคอหอยและหูชั้นกลาง มีหน้าที่ปรับความดันภายในหูให้ภายในหูมีความดันเท่ากับความดันภายนอก ถ้าหากระดับความดันของทั้งสองแห่งไม่เท่ากัน จะมีผลทำให้รู้สึก หูอื้อ และถ้าเกิดความแตกต่างมากจะทำให้รู้สึกปวดหู ภายในหูส่วนกลางนี้มีกระดูก 3 ชิ้นคือ กระดูกค้อน (Malleus) กระดูกทั่ง (Incus) และกระดูกโกลน (Stapes) เรียงตามลำดับจากด้านนอกเข้าสู้ด้านใน มีหน้าที่ในการขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น และจึงส่งต่อการสั่งสะเทือน เข้าสู่หูส่วนในเพื่อแปลเป็นความรู้สึกเพื่อส่งต่อไปยังสมอง


หูส่วนใน

หูส่วนใน (Internal ear) อยู่ถัดจากหูส่วนกลางเข้ามา หูส่วนในประกอบด้วยท่อขดก้นหอย หรือ คอเคลีย (Cochlea)
ภายในคอเคลียมีเยื่อบาง ๆ 2 ชนิดกั้นทำให้ภายในแยกเป็น 3 ส่วน

1. เยื่อชนิดแรกเรียกว่า เยื่อเบซิล่าร์ (basilar membrane) ยาวประมาณ 30 มิลลิเมตร ตอนกลางจะยึดอยู่กับกระดูกแข็ง สไปรัลลามินา (spiral lamina) ส่วนด้านข้างติดอยู่กับเอ็นสไปรัล (spiral ligament) ที่เยื่อนี้มีอวัยวะพิเศษ เรียกว่า ออร์แกนออฟคอร์ตี (orgam of corti) อวัยวะชิ้นนี้ประกอบด้วยแถวของเซลล์ขน (hair cell) มีลักษณะเป็นเส้นยาว ๆ อยู่ระหว่างเยื่อหุ้มสองชั้น ปลายเซลล์ขนจะมีซิเลียที่ยาวมากยื่นเข้ามา ในส่วนที่เป็นของเหลว และสัมผัสกับเนื้อเยื่อที่อยู่ตรงด้านตรงข้ามที่เรียกว่าเยื่อแทกทอเรียล (tactorial membrane) แต่ละเซลล์มีซิเลียมากกว่า 200 อัน เมื่อของเหลวในคอเคลียสั่นสะเทือน เยื่อทั้งสองด้านจะเคลื่อนที่ใกล้กันมากขึ้น ทำให้ซิเลียเกิดเปลี่ยนรูปร่าง ซึ่งจะไปทำให้เกิดศักย์กิริยาขึ้นที่เซลล์ประสาท ที่ติดต่ออยู่ด้วย นำกระแสความรู้สึกผ่านเข้าสู่สมองทางเส้น ประสาทออดิทอรี(auditory nerve) ในอัตราที่มากถึง 15,000 ครั้งต่อวินาทีซึ่งเป็นความถี่ของเสียง ที่หูของมนุษย์รับได้

2. เยื่อไรสส์เนอร์ (rissner's membrane) เป็นเยื่อที่ติดอยู่กับผนังด้านในของบริเวณลิมบัส (limbus) และทางด้านข้างติดต่อกับขอบบนของ สไตรอาวาสคิวลาริส (striavas cularis) ดังนั้นระหว่างเยื่อเบซิล่าร์และเยื่อไรสส์เนอร์จะมีช่องเล็กตอนกลางเรียกว่า สกาลามีเดีย (scala media) หรือท่อของคอเคลียจะมีของเหลวอยู่ในช่องนี้ เรียกว่า เอนโดลิมฟ์ (endolymph) ตอนบนของเยื่อไรสส์เนอร์จะมีช่องเวสทิบิวลาร์คะแนล (vestibular canal) และตอนล่างของเยื่อเบซิลาร์จะมีช่องทิมพานิกคะแนล (tympanic canal) เรียกของเหลวที่บรรจุเต็มช่องบนและช่องล่างว่างเพริลิมฟ์ (perilymph) ตอนยอดของก้นหอยโข่งจะมีรูเปิดติดต่อถึงกันได้ระหว่าง ทิมพานิกคะแนลและเวสทิบิวลาร์คะแนล รูนี้เรียกว่า เฮริโคทรีมา (helicotrema) ที่หน้าต่างรูปไข่จะเป็นบริเวณที่เริ่มต้นของเวสทิบิวลาร์คะแนล ส่วนที่หน้าต่างวงกลมจะอยู่ตอนปลายของทิมพานิกคะแนล การสั่นสะเทือนของของเหลวภายในคอเคลียจะเริ่มต้นที่หน้าต่างรูปไข่แล้วเคลื่อนไปตามเวสทิบิวลาร์คะแนล จนถึงยอดของหอยโข่ง จากนี้จะเคลื่อนมาตามทิมพานิกคะแนล จนไปสิ้นสุดที่หน้าต่างวงกลม จะเห็นได้ว่าการสั่นสะเทือนจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันบนเยื่อกั้นทั้งสองด้านที่เป็นที่อยู่ของ เซลล์รับความรู้สึกทางกล ในทิศทางตรงกันข้ามกัน เนื่องจากโครงสร้างที่มีลักษณะพิเศษของคอเคลียดังกล่าวมาแล้ว การสั่นสะเทือนที่ความถี่ระดับหนึ่ง จะมีแนวโน้มที่จะลดลงที่บริเวณหนึ่ง แต่ไปทำให้เพิ่มขึ้นในอีกบริเวณหนึ่งได้ ผลที่ตามมาคือ การสั่นสะเทือนที่มีความถี่สูง ๆ จะมีผลกระตุ้นเซลล์ขนได้สูงสุด ในบริเวณหน้าต่างรูปไข่ ภายในหูส่วนในยังมีอวัยวะที่ช่วยในการทรงตัว คือ เวสทิบิวล่าร์แอพพาราตัส (Vestibular apparatus)
ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆคือ
1. semicircular canal มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลมภายในบนนจุของเหลง endolymph ในส่วนที่นูนออกมาบริเวณปลายจะมี hair cell อยู่
2. utricle , saccule อยู่ทางด้านหน้า ของข้อ1 มีกล้อง Ca เล็กอยู่และ hair cell ภายใน semicircular canal มี endolymph เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาทำให้ขนของ hair cell เบนไปมาทำให้เกิดคลื่นกระแสประสาทส่งไปยังสมองเพื่อควบคุมการทรงตัว ถ้าหากหมุนตัวหลายๆรอบ จะทำให้ระบบส่วนนี้ทำงานผิดปรกติทำให้เกิดอาการมึนงง


การสั่นสะเทือน


ส่วนการสั่นสะเทือนที่มีความถี่ต่ำจะมีผลกระตุ้นมากที่สุดตรงปลายด้านในสุดของคอเคลีย การสั่นสะเทือนที่มีความถี่ปานกลาง จะมีผลกระตุ้นได้มากที่สุดตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างหน้าต่างรูปไข่และปลายด้านในสุดของคอเคลีย เนื่องจากเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่บริเวณต่าง ๆ ของคอเคลียนำกระแสความรู้สึกเข้าสู่บริเวณสมองคนละตำแหน่ง ดังนั้นผลที่สมองแปลออกมาจึงสามารถบอกถึงความแตกต่าง ของระดับความถี่ของคลื่นเสียงที่มากระตุ้นได้ ของเหลวในเอนโดลิมฟ์ที่มีส่วนประกอบคล้ายคลึงกับของเหลวในเซลล์แต่มีโปรตีนน้อยกว่า ซึ่งตรงกันข้ามกับ เฟริลิมฟ์ที่มี Na+ และโปรตีนสูง





รูปร่างของคอเคลียสามารถจะบอกช่วงความถี่ของคลื่นเสียงที่หู สามารถตอบสนองได้ ของมนุษย์ระหว่าง 20 - 20,000 รอบต่อวินาที แมวอยู่ระหว่าง 50,000 รอบต่อวินาที ค้าวคาวและปลาโลมา มีความสามารถรับความถี่ได้สูงมากถึง 100,000 รอบต่อวินาที เสียงที่ดังมาก ๆ เมื่อเข้ามากระทะแก้วหู การสั่นสะเทือนที่รุนแรงของของเหลวในหูส่วนในอาจทำให้ซิเลียของเซลล์ขนฉีกขาดได้ ทำให้สูญเสียการรับเสียงในช่วงความถี่นั้น ๆ ได้ หูของมนุษย์มีชุดกล้ามเนื้อที่สามารถลดการเคลื่อนที่อย่างรุนแรงของกระดูกโกลนเมื่อได้รับการกระตุ้นของเสียงอย่างรุนแรงได้บ้าง การสูญเสียเซลล์ขนจำนวนมากจะไม่สามารถสร้างกลับคืนมาได้ใหม่ อาจเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เสียงเครื่องจักรกลในโรงงานใหญ่ เสียงเครื่องบินเร็วกว่าเสียง เช่นเครื่องบินไอพ่น เสียงจากท่อไอเสียของรถจักรยานยนต์ และรถแข่ง รวมทั้งเสียงดนตรีในแหล่งสถานบันเทิง


การทำงานของหู เริ่มจาก เสียงจะเข้าไปในรูหูผ่านใบหู หลังจากนั้น ก็จะไปสั่นที่แก้วหู หลังจากนั้นแก้วหูก็จะไปสั่นกระดูกทั่ง ค้อน และ โกลน หลังจากนั้น กระดูกโกลนและจะไปสั่นคอเคลีย ของเหลวในคอเคลียจะไปสั่นเซลล์ขนในคอเคลีย เซลล์ขนจะแปรความสั่นสะเทือนเป็นกระแสไฟฟ้าและส่งไปยังเส้นประสาท กระแสไฟฟ้าจะเดินทางผ่านเส้นประสาทและไปที่ไปที่สมอง เพื่อให้สมองแปรเป็นข้อมูล

Posted on 7:19 PM by Unknown

No comments

 รักษาหูหนวก...ด้วยสเต็มเซลล์
      

      ในชีวิตของคนทั่วไปจะรู้จักคนหูหนวกเพียงไม่กี่คน แต่สถิติขององค์การอนามัยโลกในปี 2550 ก็ระบุว่า ทั่วโลกมีคน 278 ล้านคนที่มีปัญหาในการได้ยิน โดยเฉพาะหนึ่งในสามของคนที่อายุเกิน 60 ปี และกว่าครึ่งของคนอายุเกิน 85 ปี มีภาวการณ์ได้ยินบกพร่อง เช่น หูตึงจนต้องใช้เครื่องขยายเสียงช่วยในการฟัง หรือได้ยินเสียงหึ่งในหูตลอดเวลา(tinnitus) ดังที่คนอเมริกัน 12 ล้านคนเป็นโรคนี้



       ทั้งนี้เพราะอวัยวะภายในหูทำงานบกพร่อง หรือถูกทำลาย และแพทย์ได้พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนหูหนวกหรือหูตึงมากที่สุด คือ เซลล์ขน (hair cell) ทำงานบกพร่อง ซึ่งเซลล์ขนนี้มีจำนวนตั้งแต่ 16,000 - 30,000 เส้น โดยแต่ละเส้นยาว 0.95 มิลลิเมตร และอยู่เรียงรายภายในหูส่วนในที่มีลักษณะเป็นก้นหอย ซึ่งเรียกว่า cochlea กระบวนการได้ยินเกิดขึ้นเมื่อคลื่นเสียงเดินทางผ่านหู ทำให้แก้วหูสั่นตามจังหวะคลื่นเสียง แล้วคลื่นจะถูกส่งต่อไปยัง cochlea ซึ่งเป็นท่อยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ที่ภายในมีของเหลวบรรจุอยู่ และเมื่อคลื่นเสียงเดินทางไปในของเหลว เซลล์ขนที่ติดอยู่ตามผนังท่อจะโอนเอนไปมาคล้ายสาหร่าย และจะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานเสียงเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อส่งต่อไปที่เซลล์ประสาทในสมองให้แปลความหมายของสัญญาณว่าเสียงที่ได้ ยินคือเสียงอะไร ซึ่งถ้าเซลล์ขนหรือเส้นประสาทการได้ยินได้เสียหายหรือถูกทำลายไปแล้ว จะไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่มาทดแทนของเดิมหรือซ่อมแซมได้อีก ทำให้หูหนวกอย่างถาวร


       ที่ผ่านมาการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมสามารถช่วยให้คนที่สูญเสียการได้ยินหรือ หูหนวก กลับมาได้ยินเสียงอีกครั้ง แต่วิธีการรักษาแบบนี้รักษาได้เฉพาะผู้ที่สูญเสียเซลล์ขน (hair cell) เท่านั้น แต่ไม่ สามารถรักษาอาการหูหนวกที่เกิดจากเส้นประสาทเสียหายหรือถูกทำลายได้ และไม่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีเส้นประสาทการรับเสียงผิดปกติได้ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้คิดเป็น 10 - 15% ของผู้ที่มีอาการหูหนวกทั้งหมด
       แต่ปัจจุบันได้มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษได้ทำการทดลองรักษาอาการหูหนวกของเจอร์บิล (gerbil) ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดของมนุษย์ (human embryonic stem cells)  ซึ่งทำได้สำเร็จ นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหูหนวกที่มีสาเหตุมากจาก เส้นประสาทเสียหายหรือถูกทำลายได้
       โดย ดร. มาเซลโล ริโวลต้า ได้ทำการทดลองกับเจอร์บิล ที่ถูกทำให้หูหนวกด้วยการใช้ยาไปทำลายประสาทการได้ยิน ที่ต้องทำการทดลองกับเจอร์บิลแทนหนูอย่างที่ทดลองเป็นปกติกันในห้องทดลองโดย ทั่วไปนั้น เนื่องจากเจอร์บิลนี้ได้ยินเสียงที่ความถี่เดียวกับที่มนุษย์ได้ยิน ซึ่งหนูปกติที่ใช้ทดลองนั้นจะได้ยินที่ความถี่เสียงที่สูงกว่า

       หลังจากทำให้เจอร์บิลหูหนวกแล้วจะฉีดเซลล์ต้นกำเนิดของมนุษย์หรือสเต็มเซลล์ เข้าไปประมาณ 50,000 เซลล์ ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมในการที่จะไปฟื้นฟูประสาทการได้ยินซึ่งเป็นผลจาก การทดลองที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้

       ผลจากการทดลองเมื่อปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เข้าไปในตัวเจอร์บิลที่หูหนวกแล้ว พบว่าตัวเจอร์บิลเกือบทั้งหมดมีพัฒนาการทางการได้ยินเพิ่มขึ้นบางส่วน และหลังจากปลูกถ่ายไปแล้ว 10 สัปดาห์ พบว่าตัวเจอร์บิลมีพัฒนาการในการได้ยินที่ดีขึ้นและสามารถฟื้นฟูการได้ยินได้โดยเฉลี่ย 45%

       โดยถ้าเปรียบเทียบการทดลองนี้เป็นการทดลองในมนุษย์เท่ากับว่าจากคนที่หูหนวก จนไม่สามารถได้ยินกระทั่งเสียงแตรจากรถบรรทุกบนท้องถนน ก็สามารถที่จะได้ยินบทสนทนาต่างๆได้

       แต่ก็ยังมีเจอร์บิลบางตัวไม่ตอบสนองต่อการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งผู้วิจัยได้ให้คำอธิบายไว้ว่า "การตอบสนองของเจอร์บิลหลังจากการรักษานั้นมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าสเต็มเซลล์ที่ถูกฉีดเข้าไปในส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง (cochlea) ซึ่งเป็นท่อรูปก้นหอยภายในหูจะเจริญได้ดีแค่ไหน"

       ทั้งนี้ผู้วิจัยยังมีความกังวลเกี่ยวกับการนำสเต็มเซลล์มาใช้ เนื่องจากว่าความสามารถของเซลล์ต้นกำเนิด (embrionic stem cell) นั้น สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้ รวมถึงการพัฒนาไปเป็น "เซลล์มะเร็ง" ซึ่งผลการทดลองกับตัวเจอร์บิลเป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์นั้นยังไม่พบความผิดปกติดังกล่าว แต่ยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกเป็นระยะเวลานานและความกังวลอีกอย่างของ ผู้วิจัยก็คือ ในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้อาจไม่ยอมรับเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายก็เป็นได้

       แต่ทั้งนี้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในสักวันหนึ่งเราจะสามารถนำสเต็มเซลล์นี้ไปรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson's) โรคเบาหวาน (diabetes) แม้กระทั่งโรคมะเร็ง (cancer) โดยใช้การศึกษาการรักษาอาการหูหนวกโดยสเต็มเซลล์เป็นพื้นฐานในการศึกษาเพื่อ รักษาโรคอื่นๆ ต่อไป

       อ๊ะ !! !!  แต่อย่าคิดว่าการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เป็นวิธีที่ง่ายเหมือนที่อ่านๆ กัน ขั้นตอนจริงๆ นั้น ยุ่งยากและซับซ้อน ต้องการการเอาใจใส่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสเต็มเซลล์ที่นำมาใช้จะต้องสะอาด เติบโตได้อย่างปกติ ไม่ปนเปื้อนแบคทีเรีย หรือขั้นตอนในการฉีดสเต็มเซลล์เข้าในผู้ป่วยหรือแม้กระทั่งสัตว์ทดลองก็ตาม ก็ต้องฉีด
เข้าไปที่ตำแหน่งที่ต้อง การและเหมาะสม เพื่อให้เซลล์โตไปเป็นเซลล์ที่ต้องการ โดยระหว่างนี้อาจต้องใช้ฮอร์โมน สารเคมี หรือยาต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งวิธีการเหล่านี้ต้องทำโดยผู้วิจัยหรือแพทย์ที่มีความชำนาญการเท่านั้น

       อีกทั้งสเต็มเซลล์และผลิตภัณฑ์จากสเต็มเซลล์ทุกชนิดที่ใช้เพื่อการวินิจฉัย การรักษา หรือการป้องกันโรคของมนุษย์ จัดเป็นยาตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นสเต็มเซลล์ที่ใช้ในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง สถานพยาบาล คลินิก หรือแม้กระทั่ง
การโฆษณาอวดอ้างและเชิญชวนให้ใช้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยสเต็มเซลล์ การผลิต-นำเข้า ทั้งหมดนี้จะต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน ดัง นั้นก่อนที่เราจะใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการใดๆ ก็ตามควรเช็คว่าสเต็มเซลล์เหล่านั้นได้ขึ้นทะเบียนกับอย. ไว้หรือไม่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเอง


ขอบคุณข้อมูลจาก leaderpost.com และ nature.com

Posted on 7:16 PM by Unknown

No comments

หูกับการได้ยิน

       หูเป็นอวัยวะรับสัมผัสที่ทำหน้าที่ทั้งการได้ยินเสียง และการทรงตัว หูของคนแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือหูส่วนนอก หูส่วนกลางและหูส่วนใน
ดังภาพที่ 8-38

ภาพที่ 8-38 โครงสร้างของภายในของหูคน



       หูส่วยนอก ประกอบ ด้วยใบหูและช่องหูซึ่งนำไปสู่หูส่วยกลางใบหูมีกระดูกอ่อนค้ำจุนอยู่ ภายในหูมีต่อมสร้างไขมาเคลือบไว้ทำให้ผนังช่องหูไม่แห้ง และป้องกันอันตรายไม้ให้แมลงและฝุ่นละออง

เข่าสู่ภายใน ต้านการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ เมื่อมีมากจะสะสมกลายเป็นขี้หูซึ่งจะหลุดออกมาเอง จึงไม่ควรให้ช่างตัดผมแคะหูให้ เพราะอาจเป็นอันตราย ทำให้เยื่อแก้วหูขาดและกลายเป็นคนหูหนวก ตรงรอยต่อระหว่างหูส่วนนอกกับหูส่วนกลาง มีเยื่อบางๆกั้นอยู่เรียกว่า เยื่อแก้วหู  (ear drum หรือ tympanic membrane) ซึ่งสามารถสั่นได้เมื่อได้รับคลื่นเสียง เช่นเดียวกับหนังหน้ากลองเมื่อถูกตีหูส่วนนอกจึงทำหน้าที่รับคลื่นเสียงและ เป็นช่องให้คลื่นเสียงผ่าน   

               หูส่วนกลาง มีลักษณะเป็นโพรง ติดต่อกับโพรงจมูกและมีท่อติดต่อกับคอหอย ท่อนี้เรียกว่า ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube)ปกติท่อนี้จะตีบ แต่ในขณะเคี้ยวหรือกลืนอาหารท่อนี้จะขยับเปิดเพื่อปรับความดัน 2 ด้านของเยื่อแก้วหูให้เท่ากัน นอกจากนี้เมื่อความดันอากาศภายนอกลดลงหรือสูงกว่าความดันในหูส่วนกลางอย่างรวดเร็ว ความแตกต่างระหว่างความดันอากาศภายนอกและภายในหูส่วนกลางอาจทำให้เยื่อแก้ว หูถูกดันให้โป่งออกไป หรือถูกดันเข้า ทำให้การสั่นและการนำเสียงของเยื่อแก้วหูลดลง เราจะรู้สึกว่าหูอื้อ หรือปวดหู จึงมีการปรับความดันในช่องหูส่วนกลางโดยผ่านแรงดันอากาศบางส่วนไปทางท่อยู สเตเชียน นอกจากนี้ภายในหูส่วนกลางประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน (milieus) กระดูกทั่ง (incurs) และกระดูกโกลน (stapes) ยึดกันอยู่เมื่อมีการสั่นสะเทือนเกิดขึ้นที่เยื่อแก้วหูจะถ่ายทอดมายัง กระดูกค้อนและกระดูกทั่ง ทำให้กระดูกหู 2 ชิ้นนี้เคลื่อนและเพิ่มแรงสั่นสะเทือนและส่งแรงสั่นสะเทือนนี้ต่อไปยัง กระดูกโกลนเพื่อเข่าสู่หูส่วนในต่อไป คลื่นเสียงที่ผ่านเข้ามาถึงหูส่วนในจะขยายแอมพลิจูดของคลื่นเสียงเพิ่มจากหู ส่วนนอกประมาณ 22 เท่า

 รู้หรือเปล่า

หูของคนปกติสามารถรับฟังเสียงที่มีความถี่ของเคลื่อนเสียงตั้งแต่ 20-20,000เฮิร์ตซ์ ขณะที่สัตว์บางชนิด เช่นสุนัขสามารถรับคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงกว่านี้ได้หูของค้างคาวสามารถ รับเคลื่อนเสียงที่มีความถี่สูงมาก



        หูส่วนใน ประกอบด้วย โครงสร้างที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน2 ชุด คือ ชุดที่ใช้ฟังเสียงและชุดที่ใช้ในการทรงตัว

        ชุดที่ใช้ฟังเสียง อยู่ทางด้านหน้าเป็นท่อที่ม้วนตัวลักษณะคล้ายก้นหอย ประมาณสองรอบครึ่ง เรียกว่า <b>คอเคลีย</b> (cochlea) ภายในมีของเหลวบรรจุอยู่ เมื่อคลื่นเสียงผ่านเข้ามาจนถึงคอเคลียจะทำให้ของเหลวภายในคอเคลียสั่น สะเทือน ทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณเสียงเป็นกระแสประสาท โดยกระตุ้นเซลล์เสียงให้ส่งกระแสประสาทไปยัง<b>เส้นประสาทรับเสียง</b> (auditory nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 8 เพื่อเข้าไปสู่สมองส่วนเซรีบรัมที่เป็นศูนย์ควบคุมการได้ยินเพื่อจะแปลผลต่อไป

       ชุดที่ใช้ในการทรงตัวอยู่ ด้านหลังของหูส่วนใน ทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับการเอียงและการหมุนของศีรษะตลอดการทรงตัวของร่าง กาย มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม 3 หลอดวางตั้งฉากกันเรียกว่า เซมิเซอร์คิวลาร์แคแนล (semicircular canal) ภายในหลอดมีของเหลวบรรจุอยู่ ที่โคนหลอดมีส่วนโป่งพองออกมา เรียกว่าแอมพูลลา (impala) ภายในมีเซลล์ความรู้สึกที่มีขน (hair cell)ซึ่ง ไวต่อการไหลของของเหลวภายในหลอดทีเปลี่ยนแปลงตามตำแหน่งของศีรษะและทิศทาง การวางตัวของร่างกาย ขณะที่ร่างกายเคลื่อนไหวจะกระตุ้นเซลล์ที่ทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับการทรง ตัว ให้ส่งกระแสประสาทไปตามเส้นประสาทที่ออกจากเซมิเซอร์คิวลาร์แคแนลไปรวมกับ เส้นประสาทของคอเคลียและออกไปรวมกับเส้นประสาทรับเสียงเพื่อนำกระแสประสาทไป ยังสมองส่วนเซรีบรัมต่อไป

Posted on 7:14 PM by Unknown

No comments

หู
     หูเป็นอวัยวะที่ช่วยให้คนเราได้ยินเสียงต่างๆ และเป็นอวัยวะที่ทำงานเกี่ยวกับการทรงตัวของร่างกายขณะร่างกายเคลื่อนไหว
   ส่วนประกอบของหู
   หูของคนเราแต่ละข้างแบ่งออกเป็น 3 ชั้นคือ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน
   1.หูชั้นนอก ประกอบไปด้วย
     1.1 ใบหู เป็นกระดูกอ่อนที่หุ้มด้วยผิวหนังบางๆ ทำหน้าที่ดักและรับเสียงเข้าสู่รูหู
     1.2 รูหู เป็นท่อคดเคี้ยวเล็กน้อย ลึกประมาณ 2.5 ซม. ผนังของรูหูบุด้วยเยื่อบาง และใต้เยื่ออ่อนนี้เต็มไปด้วยต่อมน้ำมัน ทำหน้าที่ขับไขมันเหนียวและเหลว มาหล่อเลี้ยงรูหู ไขมันเหล่านี้เมื่อรวมกับสิ่งสกปรกต่างๆก็จะกลายเป็น ขี้หู ซึ่งจะช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาทางรูหูไม่ให้เข้าถึงเยื่อแก้วหูได้ง่าย
     1.3 เยื่อแก้วหู เป็นเยื่อบางๆ อยู่ลึกเข้าไปในส่วนของรูหู กั้นอยู่ระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงที่เดินทางเข้ามาทางรูหู

   2.หูชั้นกลาง อยู่ถัดจากเยื่อแก้วหู มีลักษณะเป็นโพรงอากาศบรรจุกระดูกเล็กๆ 3 ชิ้นติดต่อกัน คือกระดูกค้อน อยู่ติดกับเยื่อแก้วหู กระดูกทั่ง อยู่ตรงกลาง และกระดูกโกลน อยู่ติดกับหูชั้นใน ส่วนล่างของโพรงอากาศตอนปลายของหูชั้นกลางจะมีท่อยูสเตเชี่ยน (Eustachian tube) ซึ่งมีลักษณะเป็นช่องอากาศแคบๆ และยาวต่อไปถึงคอ ทำหน้าที่ปรับความกดอากาศ ข้างในและข้างนอกหูให้มีความสมดุลกัน ทำให้เราไม่ปวดหูเวลาอากาศเข้าไปกระทบ แก้วหูขณะที่มีการหายใจ หรือกลืนอาหาร


   3.หูชั้นใน อยู่ถัดจากกระดูกโกลนเข้ามา หูชั้นนี้ประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ 2 ส่วน คือ
     3.1 ส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ที่ขดเป็นวงซ้อนกันอยู่หลายชั้นคล้ายหอยโข่ง ภายในมีท่อของเหลวบรรจุอยู่ ตามผนังด้านในของท่อมีอวัยวะรับเสียงอยู่ทั่วไป
     3.2 ส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว มีลักษณะเป็นรูปท่อโค้งครึ่งวงกลมเล็กๆ 3 วง วางเรียงติดต่อกันตั้งฉากกับผนังภายใน ปลายของครึ่งวงกลมทั้ง 3 นั้น อยู่ติดกัน ท่อครึ่งวงกลมทั้ง 3 นี้บุด้วยเนื้อเยื่อบางๆ ที่มีประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวกระจายอยู่ ส่วนที่เป็น ส่วนที่เป็นช่องว่างภายในท่อครึ่งวงกลมนี้ บรรจุด้วยของเหลว เมื่อเราเคลื่อนไหว ศ๊รษะ หูย่อมเอนเอียงไปด้วย ของเหลวที่บรรจุภายในท่อทั้ง 3 นี้ ก็จะเคลื่อนที่ตามทิศทางการเอียงของศีรษะ ซึ่งจะไปกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกเกี่ยวกับการทรงตัวแล้วส่งความรู้สึกไปยังสมองจึงทำให้เรา ทราบว่าร่างกายของเราทรงตัวอยู่ในลักษณะใด ของเหลวที่บรรจุในท่อครึ่งวงกลมนี้จะปรับไปตามความกดดันของอากาศ ถ้าความกดดันอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันของเหลวปรับตัวไม่ทันก็จะทำให้เรามีอาการวิงเวียน ศีรษะเมื่อขึ้นไปอยู่ที่สูงๆอย่างรวดเร็วเป็นต้น

การได้ยินเสียง
     เสียงที่เกิดขึ้นทุกชนิดมีลักษณะเป็นคลื่นเสียง ใบหูรับคลื่นเสียงเข้าสู่รูหูไปกระทบเยื่อแก้วหู เยื่อแก้วหูถ่ายทอดความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงไปยังกระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน ซึ่งอยู่ในหูชั้นกลางและเลย ไปยังท่อรูปครึ่งวงกลม แล้วต่อไปยังของเหลวในท่อรูปหอยโข่ง และประสาทรับเสียงในหูชั้นในตามลำดับ ประสาทรับเสียงถูกกระตุ้นแล้วส่งความรู้สึกไปสู่สมองเพื่อแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน


โรคและความผิดปกติของหู
     หูเป็นอวัยวะที่บอบบางและมีลักษณะเป็นช่องเปิดจากภายนอกเข้าไป จึงอาจทำให้เป็นโรคหรือเกิดอาการผิดปกติขึ้นในส่วนต่างๆของหูได้ง่าย โรคของหูที่พบได้บ่อยคือ หูน้ำหนวก แก้วหูทะลุ และเชื้อราในช่องหู
     1.หูน้ำหนวก พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งมักจะเป็นหวัดบ่อยๆ
     สาเหตุ โรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุจากน้ำเข้าหูตามที่เข้าใจกันแต่เกิดจากเป็นหวัด เรื้อรังแล้วมีเชื้อโรคเล็ดลอดจากบริเวณลำคอผ่านท่อยูสเตเชี่ยนเข้าสู่หู ชั้นกลาง โดยเฉพาะการสั่งน้ำมูกแรงๆ ก็ทำให้เชื้อเข้าสูหูชั้นกลางได้
     อาการ หูอื้อ ฟังไม่ค่อยได้ยินและปวดหูมาก เนื่องจากเกิดการอักเสบในหูชั้นกลางแล้วมีหนองขังอยู่ภายใน ถ้าหนองดันทะลุผ่านเยื่อแก้วหูออกมา อาการปวดจึงจะทุเลาลง ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะเป็นหนองไหลออกมาจาก รูหูอยู่เรื่อยๆ กลายเป็นโรคหูน้ำหนวกชนิดเรื้อรัง ซึ่งอาจลุกลามเข้าสมอง เกิดฝีในสมองจนเสียชีวิตได้
     การป้องกันและการรักษา
     1. ควรป้องกันไม่ให้เป็นโรคหวัด และเมื่อเป็นหวัดก็ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ
     2. หากมีอาการของโรคหูน้ำหนวกควรปรึกษาแพทย์
     3. ในกรณีที่แพทย์รักษาจนหนองแห้งแล้ว ควรพยายามไม่ให้น้ำเข้าหู เพราะแก้วหูยังทะลุอยู่ ถ้าน้ำไม่สะอาดเข้าหูชั้นกลาง อาจทำให้เกิดการอีกเสบขึ้นไปอีก
     4. ควรรับการผ่าตัดปะแก้วหูที่ทะลุให้เป็นปกติ

     2. แก้วหูทะลุ
     สาเหตุ เกิดจากการที่แรงอัดสูงๆ ในรูหู เช่น ถูกตบที่ข้างหูหรืออาจเกิดจากการใช้ของแข็ง เช่น กิ๊บติดผมแคะหู ซึ่งอาจทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาด
     อาการ รู้สึกปวดหูในระยะแรก และทำให้หูข้างนั้นได้ยินเสียงไม่ชัดเจน หรือหูอื้อ
     การป้องกันและการรักษา
     1.ไม่ควรใช้ไม้หรือของแข็งอื่นๆ แคะหู
     2.หากมีอาการปวดหู หูอื้อ ควรปรึกษาแพทย์
     3. เชื้อราในช่องหู
     สาเหตุ เกิดจากรูหูสกปรกและเปียกชื้น
     อาการ คันมากในรูหู ทำให้อยากแคะหู ถ้าใช้วัตถุแข็งๆ เข้าไปปั่นหรือเกา จะทำให้เกิดการอักเสบลุกลามมากขึ้น
     การป้องกันและการรักษา
     1. ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าหู
     2. ไม่ควรใช้กิ๊บ ไม้ หรือวัตถุอื่นใดแคะหรือเกาหู เพราะของดังกล่าวอาจสกปรกทำให้มีการติดเชื้อได้

การดูแลรักษาหู
     หูเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย เพื่อป้องกันมิให้หูได้รับอันตรายจากเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งสกปรกต่างๆ ควรปฏิบัติดังนี้
     1. ไม่ควรแคะขี้หูด้วยวัตถุแข็ง เช่นไม้ หรือโลหะเพราะอาจเป็นอันตรายต่อหูได้ โดยแท้จริงแล้ว ขี้หูเป็นสิ่งที่ขับออกมาตามธรรมชาติ ซึ่งมีกลิ่นพิเศษที่ป้องกันไม่ให้แมลงเข้าหูได้ จึงไม่จำเป็นต้องแคะออก การทำความสะอาดหู ควรใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาดๆ เช็ดบริเวณใบหูและรูหูเท่าที่นิ้วมือจะสอดเข้าไปได้ แต่หากมีขี้หูมากและแข็งจนทำให้การได้ยินไม่ชัดเจน ก็อาจใช้น้ำยากลีเซอรีนหยอดเข้าไปในรูหูวันละ 2 ครั้ง ก็จะทำให้ขี้หูนุ่มและละลายไหลมาเอง
     2. เวลาเป็นหวัดไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะจะทำให้เกิดแรงอัดดันให้เชื้อโรคเข้าสู่หูชั้นกลางได้
     3. หลีกเลี่ยงการฟังเสียงที่ดังเกินไป เช่นเสียงปืน เสียงพลุ หรือเสียงที่ดังตลอดเวลา เช่น เสียงเพลงจากหูฟัง เสียงเครื่องจักรทำงานในโรงงานต่างๆ เป็นต้น ถ้าจำเป็นจะต้องใช้สำลีหรือเศษผ้าอุดหูไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคหูตึง
     4.เมื่อมีแมลงเข้าหู อย่าพยายามแคะออก ควรใช้น้ำมันพืชหยอดลงในรูหู แล้วทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้แมลงตาย แล้วจึงเอียงหูให้น้ำมันไหลออกมาพร้อมกับแมลงและใช้สำลีเช็ดให้แห้ง
     5. ถ้ามีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู เช่นเด็กเล็กๆ ที่ชอบใส่เศษวัสดุลงในรูหู ไม่ควรเอาออกเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อแก้วหู ควรไปพบแพทย์
     6. ถ้ามีอาการผิดปกติของหู เช่น ปวดหู หูอื้อ ได้ยินไม่ชัดเจน ควรปรึกษาแพทย์

Posted on 7:11 PM by Unknown

1 comment

Friday, May 24, 2013

        อาการเมารถ หรือ เมาเรือ เป็นอาการที่เกิดจากระบบการทรงตัวของร่างกาย (Vestibular system) ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับความเปลี่ยนแปลงท่าทาง หรือการเคลื่อนไหวของศีรษะค่ะ

ปกติระบบการทรงตัวของร่างกาย (Vestibular system) จะทำงานประสานกันโดยรับข้อมูลทางสายตา และ หูชั้นใน (ในรูปด้านบนคือกระดูกหูชั้นในที่เป็นรูปวงแหวน 3 วง = หมายเลข 3) แล้วส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทเข้าสู่สมองน้อย (Cerebellum) ซึ่งเป็นตัวประมวลผลค่ะ

ขณะที่เรานั่งรถหรือเรือ สายตาเราจะเห็นภาพเคลื่อนที่ ศีรษะมีการเคลื่อนไหวไปมา ตามความขรุขระของถนน หรือความแรงของคลื่น ซึ่งส่วนนี้จะรับรู้โดยหูชั้นในที่เป็นวงแหวน ซึ่งถ้าโดยปกติเราไม่ค่อยได้นั่งรถนานๆ ไกลๆ หรือนั่งเรือบ่อยๆ หรือ คลื่นแรงมาก ระบบรับรู้การทรงตัวในหูชั้นในของเราไม่ชินกับสภาพแบบนี้ (ไม่แข็งแรงพอ) ปรับตัวได้ไม่ทัน จึงส่งสัญญาณเข้าสู่สมองได้ไม่ทันกับภาพที่เห็นทางสายตา ทำให้สมองแปรสัญญาณไม่ถูก เกิดเป็นอาการเวียน มึนงงศีรษะค่ะ (อันนี้อธิบายแบบง่ายๆ นะคะ จริงๆ มันซับซ้อนกว่านี้มากค่ะ)

เมื่อระบบสมองมึนงง ก็จะส่งสัญญาณไปที่ระบบประสาทอัตโนมัติ กระตุ้นให้รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน เป็นมากจนอาเจียนได้ เหงื่อออก ตัวเย็น จะเป็นลม เหล่านี้เป็นอาการที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้นค่ะ

การแก้ไข

1. การกินยาพวกดรามามีน (Dramamine) เป็นยาที่ไปกดระบบประสาท เหมือนกับเราปิดกั้นการรับรู้ของสมอง ทำให้ง่วงนอน ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ ถ้าจะให้ได้ผล คือ ควรกินก่อนเริ่มเดินทางประมาณ 15 - 30 นาทีค่ะ

2. ยาอีกกลุ่มที่ใช้ได้ผลดี คือกลุ่ม betahistine ชื่อทางการค้าที่มีในบ้านเราคือ serc, merislon ค่ะ ควรกินก่อนเริ่มเดินทาง 15 - 30 นาทีเช่นกันค่ะ

3. ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางทางรถนานๆ หรือนั่งเรือที่มีคลื่นแรง เช่นในทะเล (แต่ถ้าทำอย่างนั้นได้ คงไม่อยู่ห้องบลูแน่ๆ) แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากต้องนั่งรถพยายามนั่งด้านหน้า หรือเป็นคนขับได้จะดีมาก เพราะด้านหน้ารถ จะถูกเหวี่ยง หรือมีความสั่นสะเทือนน้อยกว่าด้านหลัง การมองวิวด้านหน้า จะช่วยในการปรับตัวขณะรถเคลื่อนที่ แต่ถ้านั่งเรือพยายามนั่งกลางๆ เรือ จะสั่นสะเทือนน้อยกว่าด้านหน้า หลัง หรือข้างๆ (กรณีเรือลำใหญ่พอสมควร)


4. ต้องมีการฝึกระบบประสาทการทรงตัวสม่ำเสมอ เป็นประจำ ในคนที่มีอาการมาก

     วิธีง่ายๆ คือ การนั่งรถระยะสั้น ทางเรียบๆ ไม่โค้งไปมามากๆ บ่อยๆ ก่อน การเดินทางไกล เพื่อให้ระบบประสาทการทรงตัวได้ฝึกปรับสมดุล
    อีกวิธี คือ ฝึกบริหารปรับระบบการทรงตัวด้วยตัวเองที่บ้าน (จริงๆ มีรูปภาพประกอบจากแผ่นพับที่แจกคนไข้ค่ะ แต่ตอนนี้ไม่มีในคอมพ์ จะแอดเพิ่มให้ภายหลังค่ะ) ต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอ จนกว่าอาการเมารถง่ายจะดีขึ้นค่ะ

5. วิธีอื่นๆ เช่น การใช้แผ่นแปะบรรเทาปวด แปะที่สะดือ อย่างที่ความเห็นด้านบนบอก ช่วยได้ในกรณีที่คลื่นไส้ เนื่องจากแผ่นแปะบรรเทาปวด ตัวยาจะซึมเข้าไปที่ใต้ผิวหนังบริเวณท้อง ทำให้กดประสาทการตอบสนองที่อยู่บริเวณท้อง ดังนั้นเมื่อระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้น หลั่งสารมากระตุ้นประสาทที่ท้อง จะถูกบล็อค (ตัดการรับรู้) จากตัวยาที่ซึมเข้ามากดการรับรู้ของประสาท จึงคลื่นไส้น้อยลง หรือไม่คลื่นไส้ค่ะ แต่จะยังคงรู้สึกมึนงง เวียนศีรษะค่ะ

วิธีการฝึกการบริหารการทรงตัวให้ค่ะ

http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2011/10/E11195669/E11195669-18.jpg

http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2011/10/E11195669/E11195669-19.jpg

หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะคะ

Posted on 9:55 AM by Unknown

No comments

โดยส่วนตัวที่เป็นหมอ เรื่องอาการปวดหูหลังนั่งเครื่องบินมีคนถามกันมาก จึงขอใช้พื้นที่ของห้องนี้อธิบายนะคะ

รูปนี้เป็นรูป ส่วนประกอบต่างๆ ของหูขวา หูปกติแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่
- หูชั้นนอกก็คือรูหู
- หูชั้นกลาง คือช่องหูที่อยู่หลังเยื่อแก้วหู ตามรูปคือหมายเลข10
- หูชั้นใน คือกระดูกรูปก้นหอยและกระดูกรูปวงแหวน 3 วง ในรูปคือ หมายเลข 4 และ 3 ตามลำดับ

ระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลางจะกั้นด้วยเยื่อแก้วหู ในรูป คือหมายเลข 1
ใน ช่องหูชั้นกลางจะมีท่อต่อออกไปเชื่อมกับหลังโพรงจมูก เรียกท่อยูสเตเชี่ยน ทิ้ว (Eustachian tube) ในรูป คือหมายเลข 7 และบริเวณปากท่อที่เปิดอยู่หลังโพรงจมูก คือหมายเลข 8




กลไกการปรับความดันอากาศในช่องหูปกติในช่องหูชั้นกลาง (หมายเลข 10) จะมีความดันอากาศเท่ากับในรูหู
แต่หากว่าความดันอากาศภายนอกเปลี่ยนแปลง เช่น

ขณะขึ้นเครื่องบิน แล้วเครื่องบินบินขึ้น ความ กดอากาศที่ระดับสูง (บนท้องฟ้า) จะน้อยกว่าที่ระดับต่ำ (ที่พื้นดิน) ทำให้ความดันในช่องหูชั้นกลาง (หมายเลข 10) มากกว่ารูหูชั้นนอก (ความดันของอากาศในรูหูชั้นนอกจะเท่ากับความดันอากาศรอบๆ ตัวเรา ส่วนความดันในช่องหูชั้นกลาง จะเท่ากับความดันของอากาศที่พื้นดิน ถ้ายังไม่มีการปรับความดันอากาศในช่องหูชั้นกลาง) ดังนั้น เยื่อแก้วหูจะถูกดันออกข้างนอก (ด้านรูหูชั้นนอก) ทำให้เกิดอาการปวดหูได้จากการที่เยื่อแก้วหูถูกดัน แต่กลไกโดยปกติ ความดันในช่องหูชั้นกลางจะถูกดันออกผ่านทางท่อยูสเตเชี่ยน ทิ้ว ด้วย (ถ้าท่อนี้ไม่ตีบ) อากาศจึงถูกดันผ่านท่อออกสู่ด้านหลังโพรงจมูก

แต่ การปวดหูขณะเครื่องบินบินขึ้นจะไม่รุนแรง เนื่องจากช่องหูชั้นกลางมีขนาดเล็ก แรงดันจึงไม่มาก และจะเพิ่มขึ้นทีละมากๆ ไม่ได้ (อากาศในช่องหูชั้นกลางมีที่อยู่จำกัด) หากปวดหูขณะเครื่องบินบินขึ้น สามารถใช้วิธี กลืนน้ำลายบ่อยๆ เป็นระยะๆ (การอมลูกอม เป็นการกระตุ้นให้มีน้ำลายหลั่งมากขึ้น ทำให้มีน้ำลายกลืนได้เรื่อยๆ)  การเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือขยับกรามไปมาด้านข้าง เป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณปากท่อยูสเตเชี่ยน ทิ้ว เปิด ลมภายในช่องหูชั้นกลางจึงถูกดันออกมาง่ายขึ้น

ขณะเครื่องบินลดระดับ ลง (landing) ความดันอากาศที่อยู่ระดับต่ำ (ใกล้พื้นดิน) จะสูงกว่า อากาศที่อยู่ระดับสูง (บนท้องฟ้า) ทำให้ความดันในช่องหูชั้นกลาง (หมายเลข 10) น้อยกว่ารูหูชั้นนอก (ความดันของอากาศในรูหูชั้นนอกจะเท่ากับความดันอากาศรอบๆ ตัวเรา ส่วนความดันในช่องหูชั้นกลาง จะเท่ากับความดันของอากาศที่ขณะอยู่บนฟ้า ถ้ายังไม่มีการปรับความดันอากาศในช่องหูชั้นกลาง) ดังนั้น เยื่อแก้วหูจะถูกดันเข้าข้างใน (ด้านช่องหูชั้นกลาง) ทำให้เกิดอาการปวดหูได้จากการที่เยื่อแก้วหูถูกดันเข้า

ซึ่งการปวดหูขณะเครื่องบินลดระดับลง จะปวดหูได้มาก  และ พบได้บ่อย เพราะว่าอากาศภายนอกที่มีความดันมากขึ้นเรื่อยๆ (ขณะเครื่องบินลดระดับลงเรื่อยๆ) จะถูกดันเข้ามาในรูหูชั้นนอกตลอดและเพิ่มแรงดันขึ้นเรื่อยๆ เพราะรูหูชั้นนอกมีขนาดกว้าง ลมเข้าได้ตลอด จึงดันเยื่อแก้วหูเข้าด้านในอย่างรุนแรง เคยมีถึงขนาดเยื่อแก้วหูฉีกได้ ซึ่งโดยปกติร่างกายก็จะมีการชดเชย โดยดันลมเข้าผ่านปากท่อยูสเตเชี่ยน ทิ้ว เข้าสู่ช่องหูชั้นกลาง เพื่อเพิ่มความดันอากาศในช่องหูชั้นกลาง ให้สู้กับความดันอากาศในรูหูชั้นนอกได้ แต่ในกรณีที่ปากท่อยูสเตเชี่ยน ทิ้ว ปิด เยื่อบุในท่อบวม ทำให้ท่อตีบ (มักพบในกรณีเป็นหวัด มีน้ำมูก  เป็นภูมิแพ้จมูกที่ควบคุมไม่ดี นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ) อากาศจากภายในหลังโพรงจมูกจะไม่สามารถดันผ่านปากท่อเข้าไปได้ ความดันในช่องหูชั้นกลางจึงยังต่ำ เยื่อแก้วหูจึงถูกดันเข้าตลอด

วิธีแก้ไขหากปวดหูขณะเครื่องบินลดระดับลง
ถ้าเป็นไม่มากใช้ วิธีเหมือนขณะเครื่องบินบินขึ้นได้ คือ กลืนน้ำลายบ่อยๆ เป็นระยะๆ (การอมลูกอม เป็นการกระตุ้นให้มีน้ำลายหลั่งมากขึ้น ทำให้มีน้ำลายกลืนได้เรื่อยๆ)  การเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือขยับกรามไปมาด้านข้าง เป็นการช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณปากท่อยูสเตเชี่ยน ทิ้ว เปิด

แต่ถ้าเป็นมาก ใช้วิธีข้างต้นไม่ได้ผล แสดงว่าเยื่อบุภายในท่อยูสเตเชี่ยน ทิ้วบวม ทำให้ท่อตีบ (หรือท่อตีบเล็กโดยกำเนิด) ให้ใช้วิธี บีบจมูก ปากหุบให้สนิทอย่าให้ลมรั่วออกปาก แล้วเป่าลมให้แก้มป่องอย่างแรง เป็นระยะๆ (Valsava maneuver) เพื่อให้ลมจากภายในถ่างท่อยูสเตเชี่ยน ทิ้ว เข้าสู่ช่องหูชั้นกลางได้ และไปดันเยื่อแก้วหูให้อยู่ในตำแหน่งปกติ อาการปวดหูก็จะหายไป ให้ปรับความดันในช่องหูแบบนี้เป็นระยะๆ ตั้งแต่ เครื่องบินเริ่มลดระดับเพดานบิน (คนที่เป็นจะรู้สึกหูเริ่มอื้อทันที ที่เครื่องบินเริ่มลดระดับเพดานลง)

การกินยากลุ่มที่มี Pseudoephredine ผสม เช่น แอคติเฟ็ด ซูลิดีน จะช่วยลดการบวมของเยื่อบุในจมูกและในท่อยูสเตเชี่ยน ทิ้ว ได้ ทำให้ท่อไม่ตีบ ช่วยปรับความดันอากาศในช่องหูชั้นกลางได้ดีขึ้น ควรกินก่อนเครื่องขึ้น หรือลง ประมาณ ครึ่ง - 1 ชม. ข้อเสียของยา คือ กินแล้วจะง่วงนอนค่ะ

อธิบายยืดยาว ไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจกันรึเปล่า แต่ขอสรุปว่า ในผู้ที่ปัญหาปวดหูขณะนั่งเครื่องบินให้ทำดังนี้
ขณะเครื่องไต่ระดับบินขึ้น ให้อมลูกอม กลืนน้ำลายบ่อยๆ หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือ ขยับขากรรไกรไปด้านข้างไปมา ทำเป็นระยะ จนกว่าเครื่องจะหยุดไต่ระดับบินขึ้น

ขณะเครื่องลดระดับเพดานบินลง ให้บีบจมูก หุบปากให้สนิท แล้วเป่าลมให้แก้มป่อง ลมจะขึ้นหู เริ่มทำทันทีตั้งแต่เครื่องลดระดับเพดานบิน (คนที่เป็นจะรู้สึกหูเริ่มอื้อทันที ที่เครื่องบินเริ่มลดระดับเพดานลง) ทำเป็นระยะ จนกว่าเครื่องจะหยุดลดระดับบินลง หรือถึงพื้นดินแล้วค่ะ
หวังว่าคงเป็นประโยชน์นะคะ

Posted on 9:19 AM by Unknown

1 comment